Call Center 086 883 0777
Email: contact@netanart.com

 

<< บทความทั้งหมด

ไร Demodex ทำให้เป็นสิวและโรคผิวหนังอื่นๆจริงหรือ?

     ปกติ ผมพอทราบอยู่บ้างว่า มีแพทย์ผิวหนังในเมืองไทย ชอบตรวจ ไรขน บนใบหน้า และโยงว่าการเป็นสิวต่างๆ นั้น เกิดจาก ไรขน ที่เรียกว่า Demodex กันบ่อยพอสมควร
 
ในความเห็นของผม แม้จะไม่เห็นด้วยแต่ ก็ไม่ใช่สาระสำคัญที่จะต้องมาเขียนบทความกัน อนึ่ง เรื่องการติดสเตียรอยด์ สำคัญกว่ามาก เลยให้เวลากับเรื่อง การติดสเตียรอยด์ จะดีกว่า แต่วันนี้มีคนไข้เป็นแพทย์ท่านหนึ่งมารักษา และ ได้รับการวินิจฉัยเรื่อง Demodex มาจากสถาบันที่มีการสอนผิวหนัง ให้กับแพทย์  เลยคิดว่าจำเป็นต้องแสดงความคิดเห็น แต่เพื่อเป็นการให้เกียรติกันจะเขียนบทความในเชิงตั้งคำถามให้วิเคราะห์กันหลังจากมารู้จัก เจ้าไร นี้สักหน่อย
 
จะขอทบทวนเรื่อง Demodex ก่อนสักเล็กน้อย  Demodex เป็นไร จัดอยู่ในสัตว์จำพวก Arachinoids ที่เรียกว่า Acarina ( Aristotle บัญญัติ ศัพท์ akari สำหรับเรียก ไร หรือ สิ่งที่มีชีวิตตัวเล็กๆ) สัตว์ไรนี้ มีกว่าล้าน species มีคนกล่าวว่า ดิน 1 กำมือ มี ไร กว่า 5 species. โดยความเป็นจริง คือ มันมีอยู่ทุกแห่งในโลก สัตว์และพืช ทุกชนิด มีไร แม้แต่หาก มี ระเบิดนิวเคลียร์ ล้างโลก นักวิทยาศาสตร์ ก็มั่นใจว่า ไรจะยังสามารถมีชีวิตอยู่ได้ ต่อไป Demodex folliculorum ได้ถูกรายงานทางการแพทย์ 2 แขนงใหญ่ๆ คือ มีรายงานว่า พบในมนุษย์ เมื่อปี 1929 ใน บทความทางวิชาการโดย จักษุแพทย์ ไรตัวนี้พบได้โดยทั่วไปบนใบหน้าของมนุษย์ พบบ่อยจนมีคำกล่าวโดย Dr. Herman Beerman of Philadelphia ว่า แพทย์ ที่กำลังเรียน Dermato-pathology ต้องหา ซากไรชนิดนี้ ให้พบใน Slide ไม่ว่าจะส่งตรวจโรคอะไรก็ตาม หากเป็นชิ้นเนื้อที่ตัดมาจาก ใบหน้า หาก แพทย์ฝึกหัดคนไหนหาไม่พบ หมายถึงว่า แพทย์ท่านนั้น ไม่ได้ดู slide นั้น ละเอียดพอ และ ที่ตลก มาก คือ dermatolpathologist เหล่านั้น กลับไม่เคยให้ความสำคัญ ในการรายงานเลยสัก คนเดียวว่า พบ Demodex ในชิ้นเนื้อ ที่ตรวจนั้น (ตลกเพราะว่าต้องหาให้เจอแต่ไม่ต้องรายงาน)
 
ทั้งนี้เพราะ ไม่มีใครเชื่อว่า มันมีผลต่อการก่อให้เกิดโรคใดๆ ในคนปกติ ( TO Coston 1967; 65:361-362) ในความเป็นจริง การค้นพบ Demodex folliculorum พบครั้งแรก โดย Berger ชาวฝรั่งเศส เมื่อปี 1842 โดยพบใน ขี้หู ( Friedrich Gmeiner ) ส่วนการโยงว่าอาจจะเกี่ยวกับ สิว นั้น  Simon รายงานว่า พบในสิว เมื่อ ปี 1843 (ก่อนรายงานของจักษุแพทย์ )แต่ Simon เองก็สงสัยว่า จริงเท็จอย่างไร และทำการสืบเสาะหาความจริง แต่ก็ปรากฏว่า เขาพบ Demodex folliculorum บนปลายจมูกของทุกศพที่ตรวจ ยกเว้นแต่ เด็ก แรกเกิดเท่านั้น  ไรชนิดนี้ อาศัยอยู่บนผิวของเราได้โดยการอาศัยในโพรงขน ที่มีน้ำมัน ไข่ของมัน มีขนาดความยาว 0.08 มม. และกว้าง 0.04 มม. ซึ่งรูปทรงจะเหมือนจานบิน (หรือ โล่) มากกว่า จะเป็นรูปทรง ไข่ ถ้าเอาไข่ออกมาใส่ใน peanut oil เพียง 10 นาที ไข่จะเปิดออก และ ภายในอีก 1 นาที ตัวอ่อน (larva ) ก็จะออกมาทั้งตัว  โดยตัวอ่อนนี้จะมีขนาดยาว 0.15 มม. (งงไหมว่า ทำไมยาวกว่า ไข่) จาก Larva ก็จะกลายเป็น protonymph, deutonymph และในที่สุดเป็น ไร ที่แข็งแรง เมื่อโตเต็มที่จะมีขนาด 0.3-0.4 มม. และมีขา 4 คู่ ( ในเอกสาร ฉบับนี้พูดถึงขนาดอย่างละเอียดว่า หัว ยาวเท่าไร ท้องยาวเท่าไร ขี้เกียจจำครับ) แต่มีคนเคยเปรียบว่ารูปร่างมันคล้าย จระเข้ มีขา 4 คู่ ฟังดูน่าสนใจ แต่ต่างที่ตรงปากมีไว้กัดกินไขมันหรือ ช่วย ขาอีก 4 คู่ เพื่อขยับตัวออกมานอกโพรงขนในเวลากลางคืน การขยับตัวออกจากโพรงขน นี่ก็แปลกเพราะ เขาจะใส่เกียร์ถอยหลังเท่านั้น หมายความว่า ไร พวกนี้ เอาหัวทิ่มลงไปในโพรงขน (น่าแปลกไม่เหมือนที่เราคิด แปลว่า เวลามุดลง แต่ เวลาออก เอาก้นออกแทน )มีคนทดลองให้ ไรนี้ลองขยับตัวในแผ่นแก้วพบว่ามันสามารถเคลื่อนที่ได้ ประมาณ 1 นิ้วภายในไม่กี่นาที
 
ส่วนหัวก็ประหลาด เพราะสามารถหมุนได้ รอบ 360 องศาเลย เวลามันกินน้ำมันเข้าไปมากๆขณะที่สังเกตในหยดน้ำมัน มันจะขยายขนาดได้ถึง 1 เท่าตัว และสามารถอยู่ในน้ำมัน peanut oil ได้นานถึง  8 ชม.  แต่หลัง 24 ชม ตัวมันจะเปื่อยจนแยกออกจากกัน (ฉะนั้น คนหน้ามันมากๆก็ห้ามไรพวกนี้ได้ เพราะมันตะกละ เหมือน ชูชก ? เป็นการควบคุมปริมาณ โดยธรรมชาติ) การแยก เพศ ผู้เพศเมีย ทำได้ไม่ยาก เพราะตัวเมียจะมีอวัยวะเพศอยู่ด้านล่าง ตัวผู้จะมีองคชาติ อยู่ทางด้านหลังบริเวณ cephalothorax ระหว่างขาคู่ที่ 1 กับคู่ที่ 2 (แปลว่า ตัวเมียต้องอยู่บนหลังตัวผู้เมื่อกำลังผสมพันธ์) มีคนเคยรายงานว่าสามารถพบ ไรนี้มากถึง 25 ตัวอัดแน่นเหมือนปลากระป๋องในรูขนตาเพียง 1 เส้น มันเป็นอย่างนั้นได้ไง คำตอบคือ ต้องรู้เรื่องวงจรชีวิตของมันมีคนพยายามนึก เหตุการณ์การผสมพันธ์ และการวางไข่ของมัน ดังนี้
 
คาดว่า ไรคงมาผสมพันธ์กันที่ปากโพรงขนเพราะอาจจะกว้างหน่อย แล้ว ตัวเมียก็จะคลานลงไปลึกกว่าเดิม เพื่อวางไข่ซึ่งใช้เวลาประมาณ 12 ชม. หลังจากวางไข่ ประมาณ 60 ชม (น้อยว่า 3 วัน) ตัวอ่อนที่เรียกว่า larva ก็จะออกจากไข่ (การฝักตัวน่าจะถูกควบคุมด้วยอุณหภูมิที่เหมาะสม) เจ้าตัวอ่อนนี้จะอยู่ใน pilosebaceous ducts เพื่อกินน้ำมันแบบตะกละเมื่อครบ 40 ชม ก็จะกลายเป็น protonymph หลังจากนั้นมันจะปล่อยให้ตัวมันลอยกับน้ำมันที่กำลังขับออกมา คือ ว่ายในน้ำมันลักษณะถอยหลังแล้วก็กินน้ำมันไปด้วย ที่ต้องเป็นอย่างนี้เพราะขาของมันยังไม่แข็งแรงพอที่จะยึดจับกับผนังโพรงขน หลังจากนั้น 72 ชม ก็จะกลายเป็น deutonymph ซึ่งใกล้จะถึงปากโพรงขนพอดี เมื่อคลานออกมา นอกโพรงขน ก็จะเดินโซซัดโซเซ อยู่ประมาณ 12-36 ชม ขึ้นกับว่า คุณนอนมากหรือน้อยเพราะ มันฉลาดที่จะออกมาตอนที่คุณหลับพอดี (อาจจะถูกควบคุมด้วยการขับของน้ำมัน คิดว่าพวกนี้น่าจะเป็นนักกระดานโต้คลื่นน้ำมันที่เก่งที่สุด คือรู้เวลา ที่จะออกมาอยู่ภายนอกโพรงขน 12-36 ชม) หลังจากนั้น ขาจะแข็งแรงพอเลยเลือก รูขุมขนเพื่อจะคลานลงไปในโพรงขน (เป็นการคัดพันธ์ที่สามารถทนต่อสภาพแวดล้อมที่คุณทำ เช่นการทา AHA SK2 etc) และฝั่งตัวอีก 60 ชม เพื่อกลายเป็นตัวที่แข็งแรง ทั้งหมดนี้น่าสนใจว่าตัวเมียกับตัวผู้ (พ่อแม่) คู่แรกหายไปไหน (คงตายไปแล้ว เหมือนที่ทดลองว่า 24 ชม ก็ตายแล้ว ไม่งั้นจะไปเอาโพรงขนที่ไหนมากมายมาให้อาศัยกันละ) แต่ในความจริงตัวผู้ตายง่ายกว่า ตัวเมียอาจจะยังอาศัยอยู่ที่เดิม หรือ อีกนัยหนึ่ง หลังวางไข่แล้ว ต้องมีสัญญาณ บอกให้มันรู้ว่าตัวอ่อน รอดแล้ว คือ อาจจะประมาณ 100 ชม ( 60+40) แล้วก็เลยปล่อยตัวออกมานอกโพรงขนเพื่อสละที่ให้รุ่นลูกอยู่ต่อไป คืออาจจะตายหลังจากนั้น อีก 120 ชม (รวมไม่น้อยกว่า 172 ชม ทำไม ลองไปอ่านดูข้างบน) ประเด็นที่ยังขาดความเข้าใจคือ อัตราการได้ลูกตัวผู้ตัวเมียเป็นอย่างไร หากเหมือน ผึ้ง ได้ตัวผู้มาก ตัวเมียอาจจะต้องผสมพันธ์มากกว่า 1 รอบ ส่วนตัวผมเชื่อว่า น่าจะไม่มาก เพราะ ลักษณะการอยู่ในโพรงขนมันอึด อัด และมีโพรงขนมากมาย ใครอยากไปไหนก็ไป กัน เป็นคู่ๆ กันไป ขอให้มีการ cross breed เพื่อได้ ลูกที่สามารถปรับตัวกับสารเคมีที่เราทาทุกคืนก็พอแล้ว พันธุ์ไหนเจริญกว่า ก็ domiante พื้นที่ไป ต้องไม่ลืม ว่า การคัดพันธ์นั้นสำคัญมาก เพราะ มนุษย์เราใช้สารเคมี มากมาย ลองไปนับ แบรนด์ คอสเมติคดูก็จะพอเห็นด้วยกับผม อีกคำถามหนึ่งคือ แล้วไข่ที่ออก คราวละกี่ใบกัน คำตอบคือ ไม่ทราบแต่คาดว่า น้อยมาก อาจจะใบหรือ สองใบเท่านั้น รวมความว่า วงจรชีวิตของ ไรขนนี้ จะอยู่ประมาณ 348 ชม หรือ 14.5 วัน (หวยออกงวดหนึ่ง 14-15 วันพอดี) และมีคนตั้งข้อสังเกตว่า หากมีซากตัวไรที่ปากโพรงขนมากเท่าไร จะไม่ดีสำหรับพวกมันนัก เพราะจะไม่สามารถให้ตัวอ่อนออกมา และกลับเข้าไปอีก ( การตรวจซากเหล่านี้ จึงไม่แน่ใจว่าจะให้ความหมายอะไรมากนัก ทางการแพทย์ ) 
 
ไรพวกนี้จึงต้องอาศัยในที่ที่มีไขมันเยอะ และ เดินทางไม่ได้ไกลสักเท่าไร จึงอยู่แต่ที่จมูก คาง แก้ม ช่องหู ในโพรงจมูก ขอบตา หน้าผาก หน้าอก หน้าท้อง และ ที่ลับ  แม้กระทั่งที่ nipples ก็พบได้ แต่ที่แน่ๆ มันไม่ชอบเข้าไปในตัวคน เพราะ หาอาหารกินไม่ได้แน่นอน Gmeiner ( Arch Dermato vol 92,1908 ) พบว่า 97/100 ศพที่เขาตรวจมี Demodex โดยพบที่ จมูกมากที่สุดสำหรับรายงานที่ศึกษาในคนที่มีชีวิตพบว่า ก่อนอายุ 5 ปี ไม่พบเลย แต่ระหว่าง 5-10 ปี พบ 50 % และหลังอายุ 10 ปี พบ ในทุกคน แต่การศึกษานี้ต้องอาศัยการบีบน้ำมันจากจมูก ถึง สองครั้ง (หมอท่านไหนหาไม่เจอก็บีบครั้งที่สองก็จะเจอเองครับ) ตัวผมเองคิดว่า หาก ล้างหน้าตามแนวโพรงขน เจ้าไรเหล่านี้คงมุดกลับเข้าไปยากขึ้น ตัวไรอาจจะลดลงมากทีเดียว ใครจะเอาไปทำวิจัยก็ดีเหมือนกันนะครับ โดยเฉพาะ อาจารย์ที่ชอบตรวจไรกันนัก
 
ส่วนเรื่องที่มีคนมาผูกโยงกับ โรคผิวหนังนั้น ต้องโทษ Ayers ที่เริ่มตั้งประเด็นเมื่อ ปี 1930  ว่าเป็นต้นเหตุของ Acne Rosacea. แต่ก็จำกัดประเด็นว่า น่าจะเกี่ยวเฉพาะ กับ ในรายที่มีอาการ เป็นตุ่มหนองเล็กๆและมีลักษณะแห้งๆ ไม่ใช่ในรายที่มีไขมันมากๆ และยืนยันว่า ไม่เกี่ยวกับเรื่องสิวทั่วๆ ไป เรื่องนี้มาได้รับความสนใจมากโขขึ้นอีกทีในอเมริกา เมื่อ Forton and Seys เริ่มที่จะพยายาม วัด จำนวน ไรนี้ให้ได้มาตรฐาน ว่า ควรจะพบในปริมาณเท่าไร โดยวัดที่ร่องแก้ม ว่าน่าจะพบ ไร ได้ไม่เกิน 5 ตัว ต่อ 1 ตารางเซนติเมตร (1993) โดยไม่ได้ศึกษาสนใจว่า ที่เพิ่มขึ้นนั้นมันเป็นซากที่ตายหรือยังเป็น ๆ หรือ  เป็นตัวอ่อนอยู่ในขั้นใด สรุปคือ นับหมด ทั้ง ไข่ตัวอ่อน และตัวแก่ ต่างนับเป็น หนึ่งตัวหมด ทำให้วงการแพทย์ ที่เป็นพวกคิดเองไม่เป็นลอกเลียนแบบแล้วเอามาตรฐานนี้มาใช้ คือ หาก ตรวจแล้วมีไรมากกว่า 6 ตัว ต่อ 1 ตารางเซนติเมตร ก็เหมาว่า ปัญหาผิวหนังของท่านเกิดจากไรตัวนี้ ตรงนี้คือประเด็นของบทความนี้ครับ
 
 
คำถามคือ
     1. ที่เพิ่มขึ้นนั้น เพิ่มได้อย่างไร วงจรชีวิตของไร เปลี่ยนไปอย่างไร เพื่อพอจะอธิบายได้ว่าเกี่ยวกับโรค (ข้อสันนิษฐานของผมคือ ที่ มันเพิ่มขึ้นในรูขุมขนครอบคลุมพื้นที่ 1 ตารงเซนติเมตรนั้น เพราะ มันตาย ไม่สามารถคืบคลานไปไหนไกลๆได้ ต่างหาก ลองคิดดูว่า ไรเหล่านี้อยู่กับเรามานมนาน หากเราตายหรือป่วยมันก็หากินลำบาก ดังนั้นหากผิวหน้าของท่านป่วยจากโรคหรือ การอักเสบ วงจรชีวิตของมันมีแต่จะแย่ลง ลูกหลานตาย หรือ ทุพพลภาพ ไม่สามารถออกมาจากโพรงขนได้ ไหนจะต้องเจอยาต่างๆที่เจ้าตัวทาลงไป เครื่องสำอางใหม่ๆ และ ไม่มีน้ำมันพอจะหล่อเลี้ยง ทั้งพ่อ แม่ลูก ตายสะสม กันในโพรง หรือ ไรตัวอื่นๆที่เมื่อออกมานอกโพรงขนจะสามารถคืบคลานไปได้ไกลก็ไปไม่ได้ ต้อง ลงรูเดิมๆ ก็ทิ้งซากกันอยู่อย่างนั้น เปรียบเหมือน ตอนนี้น้ำท่วมอยุธยา รถเอาไปไหนไม่ได้ ต้องเอามาจอดทิ้งบนถนนกัน ลูกเล็กเด็กแดงมากระจุกอยู่ที่ตรงนั้น เลยสรุปว่า การที่มีรถบนถนนมากคนมากๆเหล่านี้ เป็นเหตุให้น้ำท่วมการสรุปแบบนี้ออกจะไม่ฉลาดเท่าที่ควร)
     2. ถ้าเป็นการเพิ่มขึ้นจริง แนะนำให้ลอง ดูพื้นที่อื่นๆ ที่กว้างออกไปกว่าเดิม ออกไปกว่า แค่ร่องแก้ม หากพบว่า มีไม่มาก จะพิสูจน์ ข้อสันนิษฐานข้อแรกได้ ว่า เพราะมันไปไหนไกลไม่ได้ แต่หากพบว่ามีมากมาย จริงๆ ก็สามารถล้างข้อสงสัยในข้อ 1 ได้ อีก วิธีหนึ่งก็คือ หลังจาก ตรวจบริเวณนั้น แล้ว ลอง อีก 15 วัน (วงจรชีวิตปกติของไร ดังข้อมูลข้างต้น) ตรวจซ้ำที่เดิม หาก ไม่พบไร ก็แปลได้ว่า ที่ตรวจเจอนั้นเป็นแค่ซากจริงๆ
     3. ลองตรวจในคนที่ล้างหน้าถูกวิธีคือ ล้างหน้าตามแนวโพรงขน ว่าจะมีไรพวกนี้หรือไม่ (แนะนำมากๆ เลยครับ ผมมั่นใจว่า หากล้างหน้าตามแนวโพรงขนทั้งเช้าและเย็น เจ้าไรพวกนี้จะมา make love แล้วไปวางไข่ในรูขุมขนยากขึ้น เหมือนการหวีผม 1000 ครั้งทุกคืนก็จะช่วยป้องกันเหา ในอดีต)
     4. การที่ซากมันมากขึ้นอาจจะเกี่ยวกับการล้างหน้าวนๆ ล้างย้อนโพรงขน หรือ โพรงขนถูกเจาะ จนบิดเบี้ยว ทำให้วงจรชีวิตของไรจำต้อง ติดอยู่ในถ้ำเหล่านั้น (หากผมเป็นไร คง งง ตายเลยกับโพรงขนที่บิดเบี้ยวเหล่านี้) ท่านอาจเคยเห็นรายงานที่เขาพบซากกระโหลกมากมายในถ้ำที่ลึกลับของชาวมายา คล้ายกันไหมครับ
     5. ถ้าเป็นกรณีที่เพิ่มมากจริง คำถาม คือ เพิ่มมากได้ อย่างไร มีความผิดปกติ ของไร คือ มันกลายเป็น  supermites หรือ ต้องมีการวิจัยเพิ่มเติม เพราะ supermites อาจจะแพร่กระจายข้ามคนได้ ซิ ถ้าอย่างนั้น และ การเพิ่มแบบนั้น ร่างกายเรามีกระบวนการสู้ได้หรือไม่ แล้ว mite เดิมที่พัฒนามาเป็น หมื่นปี จะสู้เอาพื้นที่คืนไม่ได้เชียวหรือ
     6. หรือ ที่เพิ่มมาก เพราะ เรามีภูมิคุ้มกันล้มเหลว มีน้ำมันมาก มีรูขุมขนที่เอื้อต่อระบบนิเวศน์ของไร เช่น คนนั้นอาจเป็น HIV ซึ่งก็มีรายงานสนับสนุนบ้าง ซึ่งถือเป็นกรณีพิเศษที่อาจจะต้องรักษา เพราะ เราไม่สามารถฟื้นฟูระบบสุขภาพเดิมของ คนไข้ประเภทนี้ให้กลับมาได้
     7. ส่วนการที่อ้างว่า เมื่อรักษาสิวหรือ  acne rosacea หายแล้ว จำนวนไรลดลงได้เอง นั้น ก็เป็นเรื่องที่เข้าใจได้ เพราะ เหมือน เมื่อน้ำท่วมลดลงแล้ว จำนวนรถยนต์ ที่ไปจอดกันไว้ในที่สูงจะลดจำนวนลงก็ถูกต้อง เขาก็กลับไปอยู่ตามระบบนิเวศน์ของเขานั่นเอง เขาไม่ได้ เป็นต้นเหตุใดๆของน้ำท่วม
 
ข้อสรุปคือ พวกท่านที่เป็นหมอเก่งๆ ลอง ทำสติ ให้มั่นคงแล้วพิจารณาดีๆ ว่า การที่ท่านเชื่อ เรื่อง ไร กับโรคนี้จะเป็นไปได้อย่างไร Normal flora เกิดขึ้นมามีแต่ทำประโยชน์เท่านั้น หากเราผิดปกติ ต่างหาก Normal flora จึงจะเพิ่มขึ้น ประเด็นคือ เมื่อเขาเพิ่มขึ้น เราจำเป็นต้อง จัดการกับประเด็นที่ทำให้ ระบบนิเวศน์ เขาเสียไป เป็นหลักก่อนเมื่อทำเสร็จ เขาก็อยู่ของเขาต่อไป (เขามีแต่ดีใจที่จะกลับไปอยู่แบบเดิมๆ) ส่วนการเฝ้าระวัง ว่าที่เขามีจำนวนเพิ่มขึ้นจะก่อปัญหาด้วยนั้น มีเหตุผล หากเป็นเรื่อง bacteria เพราะอาจจะเข้าไปในตัวทำให้เราเสียชีวิตได้ก็เพราะเขาดิ้นรนไปทั่วทั้งตัว คือต่างคนต่างแงกันตาย หากจะให้เปรียบเทียบก็เหมือน การอยู่กันในสังคม ไม่มีใครเขาอยากประท้วงหรือเดินขบวนหรอก ที่มาประท้วงกันก็เพราะ มันไม่ไหวระบบมันไม่ดี หากช่วยแก้ระบบ ประชาชนก็กลับบ้านกัน หากไม่แก้ก็มีที่ยืนนิดเดียวลองมาดูก็จะเห็นว่ามีจำนวนมาก ถ้าคิดแบบเดิมก็คิดว่า คนที่มาประท้วงนั้นเป็นตัวก่อปัญหา ก็ฆ่าเสียคิดว่าเรื่องจะจบ ใครๆก็รู้ว่าไม่ใช่ 
 
หากไม่เชื่อ แล้วไม่คิดตรองแบบคนที่ไม่มีทิฐิ ก็ไม่ต้องสงสัยเลยว่าจะยังมีคนผูกเรื่อง เจ้าไรขนนี้ต่อไปอีก เหมือนกับรายงานที่ J Zari ( Indian J or Dermatol 2008 ) อยากจะพิสูจน์ว่า คนไข้หัวล้านก็อาจจะเกิดจาก เจ้าไรขนนี้แต่ก็คว้าน้ำเหลว มีแต่ทำให้สังคมวิชาการสับสนมากขึ้นทุกที คลินิกไหนจะลองตรวจคนหัวล้านว่า มีไรขนมากขึ้นก็เอาซิครับ เป็น gimmick ดีเหมือนกัน
 
 
 
เครดิตภาพ:Google
 

<< บทความทั้งหมด

ดุลแห่งชีวิตเพื่อผิวพรรณและเส้นผม
ผม มงกุฎแห่งความสง่างาม
คุยกับ นพ สมนึก อมรสิริพาณิชย์ เรื่อง ฝีใต้รักแร้
คุยกับ นพ.สมนึก อมรสิริพาณิชย์ เรื่อง เหงื่อชุมมือ และ รักแร้
คุยกับ นพ.สมนึก อมรสิริพาณิชย์ เรื่อง ทำไมสิวถึงเกิดซ้ำที่เดิม
คุยกับ นพ.สมนึก อมรสิริพาณิชย์ เรื่อง หูดบนหนังศรีษะ
3 คุยกับ นพ.สมนึก อมรสิริพาณิชย์ เรื่องเล็บพังรักษาได้
คุยกับ นพ.สมนึก อมรสิริพาณิชย์ เรื่องฉีดวันซีน Covid-19 ให้ปลอดภัย
  บริการ
ผลิตภัณฑ์
ตารางแพทย์
ความรู้/บทความทางการแพทย
ติดต่อนีตนาท
© 2019 Netanart Clinic